มิติใหม่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในชมพูทวีป


เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า พระพุทธศาสนาเคยรุ่งเรืองอย่างยิ่งในชมพูทวีป (ปัจจุบันคือ ประเทศอินเดีย เนปาล บังคลาเทศ และปากีสถาน) เช่นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช คือประมาณ 2,200 ปีมาแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา มีการสร้างพระสถูปเจดีย์ขึ้นทั่วราชอาณาจักร กว่า 84,000 แห่ง แต่มาเมื่อประมาณ 800 ปี มาแล้ว พระพุทธศาสนาได้ถูกทำลายกวาดล้างจนหมดสิ้นสูญไปจากดินแดนเหล่านี้ และแทบจะไม่ได้มีโอกาสฟื้นตัวขึ้นมาอีกเลย ปัจจุบันในประเทศอินเดีย มีพุทธศาสนิกชนอยู่เพียงประมาณ 4% ของจำนวนพลเมืองทั้งหมด คือประมาณ 30-40 ล้านคน กระจายอยู่ในรัฐต่างๆ เช่นทางภาคตะวันตกของรัฐมหาราษฎร์ แคว้นมัธยประเทศ รัฐปัญจาบ ทางภาคใต้ที่รัฐทมิฬนาดู และรัฐคาร์นาตะกา เป็นต้น


รับกิจนิมนต์ไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ

ในปัจจุบันได้มีความพยายามจากคณะสงฆ์ พุทธศาสนิกชนจากประเทศต่างๆเช่น ศรีลังกา ไทย พม่า ทิเบต จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ ลงทุนสร้างวัดพุทธศาสนาหลายสิบแห่งในอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตที่เรียกว่า “พุทธภูมิ” ซึ่งคือเขตแดนที่พระพุทธองค์ ได้ทรงประสูติ ตรัสรู้ เผยแผ่ธรรม และปรินิพพาน อันได้แก่ดินแดนที่อยู่ในส่วนกลาง ๆ ค่อนมาทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย คือที่พุทธคยา พาราณสี ลุมพินี (ประเทศเนปาล) และกุสินารา ตัวอย่างเช่นที่ พุทธคยามีวัดไทยไม่น้อยกว่า 4 แห่ง เป็นต้น วัดในพระพุทธศาสนาเหล่านี้เป็นวัดที่ชาวไทยไปชุมนุมกัน เพื่อทำศาสนกิจ ในวันสำคัญๆทางศาสนา จะมีชาวอินเดีย เข้ามาร่วมบ้างเป็นส่วนน้อย วัดของชาติต่างๆในเขตพุทธภูมิก็เป็นเช่นเดียวกัน กล่าวโดยสรุป วัดของชาติต่างๆเหล่านี้เป็นสถานที่แสดงออกซึ่งศิลปวัฒนธรรมที่อิงกับพระพุทธศาสนา ตามลักษณะประจำของชาตินั้นๆ


แต่ในเขตนอกออกไปจากพุทธภูมิ เช่นที่รัฐมหาราษฎร์ ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของอินเดีย มีเมืองสำคัญเช่น มุมไบ (Mumbai) นาสิก (Nasik) นาคปุระ (Nagpur) ฯลฯ ปรากฏว่า มีชาวอินเดียที่นับถือศาสนาพุทธอยู่ถึงประมาณ 10 ล้านคน พวกนี้เรียกตัวเองว่าชาวพุทธใหม่ (New Buddhists) เพราะเขาเพิ่งจะเป็นชาวพุทธอยู่เพียงประมาณ 50 ปีเศษเท่านั้น เดิมคนเหล่านี้เป็นชาวฮินดูที่มีวรรณะต่ำเขาเหล่านั้นมีผู้นำที่เข้มแข็งชื่อ ดร. บาบาสาเหบ พิมเรา รามจิ อัมเบดการ์ (Dr.Babasaheb Bhimrao Ramji Ambedkar) ซึ่งเผอิญมีโอกาสได้รับการศึกษาชั้นสูง ได้ไปศึกษาทั้งจากสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ในช่วงเวลาที่อินเดียได้รับอิสรภาพใหม่ๆคือหลังจากปี พ.ศ. 2490 ดร.อัมเบดการ์ ได้มีโอกาสเข้าเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลของศรียาวหราล เนห์รู ผู้นำคนสำคัญของอินเดียในยุคนั้นได้ผลักดันให้มีการออกกฎหมาย ให้สิทธิแก่ชนที่มีวรรณะต่ำมากขึ้นและอนุญาตให้มีการเปลี่ยนศาสนาจากฮินดูไปนับถือศาสนาอื่นใดก็ได้ ในปี พ.ศ. 2499 ดร.อัมเบดการ์ ก็ได้นำชาวอินเดียกว่า 2 แสนคนประกาศตนเป็นพุทธมามกะ นี่คือกลุ่มเริ่มต้นของชาวพุทธใหม่ ปัจจุบันชาวพุทธใหม่เหล่านี้มีฐานะทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่โดยที่เขาเหล่านั้น เข้ามาเป็นชาวพุทธโดยความจำเป็นทางสังคม ดังนั้นจึงยังไม่มีพื้นฐานความเข้าใจในหลักปฏิบัติในพระพุทธศาสนามากนัก และกลุ่มสงฆ์ของเขาก็มีจำนวนไม่มาก และยังไม่มีความเข้มแข็ง เป็นที่น่าเสียดายว่า ดร.อัมเบดการ์ ไม่ได้มีโอกาสสานต่องานด้านพระพุทธศาสนาเลย เพราะว่าเขาเสียชีวิตในปี พ.ศ.2499 หลังจากนำกลุ่มประกาศตนเป็นพุทธมามกะ เพียง 2 เดือน


ศรัทธาชาวฮินดูตักบาตรเทโวโรหณะ
ณ ดงคสิริ อุรุเวลาเสนานิคม มคธชนบท (อินเดีย) 2549

ในเทศกาลวิสาขบูชา ปี พ.ศ. 2547 พระอาจารย์ อารยะวังโส ผู้เป็นพระอาจารย์วิปัสสนา และผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย ได้ไปปักกลดบำเพ็ญเพียรอยู่เพียงรูปเดียวที่บริเวณพระมหาวิหารโพธิคยา ที่อินเดีย ท่ามกลางอากาศที่ร้อนถึง 50 องศาเซลเซียส ในเวลานั้น เผอิญมีชาวพุทธใหม่คณะใหญ่จากรัฐมหาราษฎร์เดินทางมาสักการะ ที่สังเวชนียสถานแห่งนี้ พวกเขาได้เห็นปฏิปทาอันงดงามของพระอาจารย์อารยะวังโสก็เกิดความเลื่อม ใสเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับมีคหปตานีผู้หนึ่ง ปวารณาถวายที่ดินของตนจำนวนประมาณ 15 ไร่ ที่อยู่ในรัฐมหาราษฎร์ (ห่างออกไปจากพุทธคยาประมาณกว่าพันกิโลเมตร) เพื่อให้พระอาจารย์อารยะวังโสสร้างวัดในพระพุทธศาสนาและยังมีชาวพุทธอินเดียอีกเป็นจำนวนมากถวายเงินเพื่อการนั้นให้แก่ท่านด้วย (ขณะนั้นท่านไม่เคยรู้เรื่องของรัฐมหาราษฎร์เลย โดยเฉพาะว่ามีชาวพุทธอินเดียอยู่ที่นี่) นับเป็นปรากฏการณ์ที่พิเศษอย่างยิ่ง ที่ชาวพุทธอินเดียเหล่านั้นมีความเลื่อมใสเช่นนั้นต่อพระภิกษุที่เขาไม่เคยพบเห็นมาก่อน จัดเป็นนิมิตที่ปรากฏขึ้นในเขตโพธิมณฑลสถาน ที่ตรัสรู้ของพระผู้มี พระภาคเจ้าอันศักดิสิทธิ์ บ่งถึงโอกาสที่จะมีการร่วมมือกันระหว่างชาวพุทธใหม่ในอินเดียกับคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนชาวไทยในอันที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้มั่นคงถาวรขึ้นใหม่ในดินแดนชมพูทวีปตามที่ชาวพุทธใหม่เหล่านั้นได้นิมนต์พระอาจารย์อารยะวังโสไปเป็นผู้นำในการดำเนินการ



ศรัทธาชาวฮินดูตักบาตรเทโวโรหณะ
ณ นิโครธาราม กบิลพัสดุ์ (เนปาล) 2550

ประมาณปลายปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา พระอาจารย์อารยะวังโสได้เดินทางไปยังรัฐมหาราษฎร์ครั้งแรกและหลายครั้งต่อมา เพื่อสอนธรรมะและให้คำแนะนำกับชาวพุทธใหม่เหล่านั้นในอันที่จะรวมตัวกันจัดตั้งเป็นองค์กรเรียกว่า Buddhist United Dhamma Organizaton in Jambu-dvipa ตัวย่อว่า BUDOJ เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานและเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเขตนั้น

ในปี พ.ศ. 2549 พระอาจารย์อารยะวังโสได้ไปจำพรรษาที่ถ้ำบนภูเขาดงคสิริ อุรุเวลาเสนานิคม มคธชนบท (ในอดีต) อันเป็นสถานที่ๆ เจ้าชายสิทธัตถะได้บำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่ถึง 6 ปี ก่อนที่จะได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ ถ้ำนี้อยู่นอกเมืองพุทธคยาออกไป ประมาณ 10 กม. ห้อมล้อมไปด้วยหมู่บ้านชาวฮินดูที่ยากจนจำนวนมาก เขตนี้มีชื่อว่าโจรผู้ร้ายชุกชุมและมีอันตรายมากแต่พระอาจารย์ก็ได้ไปจำพรรษาอยู่ที่นั่นตลอด เวลา 3 เดือนเศษ นับเป็นพระสงฆ์ไทยรูปแรกที่ได้ไปปฏิบัติธรรมที่นั่น



น้ำตาที่หลั่งไหล มือที่โบกอำลา
เสียงเรียกหากูรูยี เมื่อวันลาจากกบิลพัสดุ์ (เนปาล)


ในปี พ.ศ. 2550 พระอาจารย์อารยะวังโสได้ไปจำพรรษาที่ ศาสนสถานวัดนิโครธาราม เขตพระนครกบิลพัสดุ์ (Lumbini Zone, Nepal) อันเป็นเมืองของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้เป็นพระพุทธบิดา (โดยความยินดีและเป็นความประสงค์ของ Lumbini Development Trust และรัฐบาลเนปาล) ปัจจุบันบริเวณนี้เป็นชนบทที่ค่อนข้างยากจน อยู่ในเขตอิทธิพลของกลุ่มผู้ก่อการร้ายเมาอิสต์ (Maoist) แต่พระอาจารย์อารยะวังโสก็ไปปฏิบัติธรรมอยู่ได้ตลอดพรรษา นับเป็นพระ สงฆ์รูปแรกในระยะเวลากว่าพันปีที่ได้ไปจำพรรษาที่นั่น (ตามคำกล่าวของ Dr.Basanta Bidari หัวหน้านักโบราณคดีลุมพินีฯ)


ในทุกๆแห่งที่พระอาจารย์อารยะวังโสได้จาริกไป ไม่ว่าจะเป็นเขตของชาวพุทธใหม่ในรัฐมหาราษฎร์ หรือในเขตของชาวฮินดู ทั้งที่ พุทธคยาและที่ประเทศเนปาล ท่านได้รับการยอมรับนับถืออย่างสูงยิ่งจากผู้คนทุกระดับไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านธรรมดา ผู้นำหมู่บ้าน ผู้นำท้องถิ่น นักวิชาการ นักการเมือง รัฐมนตรี ตลอดจนสื่อมวลชน คนเหล่านี้มาจากทุกวรรณะ ทั้งวรรณะพราหมณ์ วรรณะกษัตริย์ ตลอดจนถึงวรรณะต่ำๆ เขาเรียกท่านว่า กูรูยี (Guru Ji) อันมีความหมายว่าพระอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ มีบารมีสูง หรือเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของหมู่ชน คนเหล่านั้นเคารพ ศรัทธา และ เชื่อว่าท่านมีพลังจิตสูงสามารถขจัดปัดเป่าทุกข์ภัยให้เขาได้ บางคนถึงกับกล่าวว่าท่านเป็นประดุจเทพเจ้าของพวกเขาทีเดียว






การประชุมจัดตั้ง BUDOJ ที่เมืองนาสิก รัฐมหาราษฎร์





เพื่อให้การฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในชมพูทวีปเป็นไปได้ด้วยดี สามารถที่จะให้การสนับสนุนแก่ชาวพุทธใหม่ ที่เป็นคนท้องถิ่นได้อย่างจริงจัง พระอาจารย์อารยะวังโสได้มีดำริให้จัดตั้งมูลนิธิฟื้นฟูพุทธศาสนาโลก(ฟพล.) ชื่อภาษาอังกฤษว่า World Buddhism Revival Foundation (WBRF) ขึ้นในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการ เป้าหมายหลักคือให้การสนับสนุนชาวพุทธใหม่ในชมพูทวีปให้สามารถปฏิบัติศาสนากิจได้อย่างถูกต้องมั่นคง และสามารถประดิษฐานพระพุทธศาสนาในชมพูทวีปให้รุ่งเรืองดุจในสมัยพุทธกาล อีกครั้งหนึ่ง




มิติใหม่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในชมพูทวีป








“สองมือจะตบแต่งโลกด้วยธรรม
จะน้อมนำพุทธศาสน์สู่ที่หมาย (ชมพูทวีป)
จะปักธงธรรมจักรก่อนละกาย
จะมุ่งหมายสืบทอดศาสน์พุทธองค์”










ผู้สนใจในรายละเอียดและมีความประสงค์
ในการร่วมก่อตั้งกองทุนติดต่อได้ที่:

หัวหน้าคณะผู้ประสานงานการก่อตั้งองค์กรฯ

พระผาสุข ฐานวุฑโฒ (ดร. ผาสุข กุลละวณิชย์)
โทร. 089-146-7640

พระนิวัฒน์ธำรง อาภัสสรโพธิ (นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล)
โทร. 081-889-9299

วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย
ถนน ลำพูน-ป่าซาง บ้านสันต้นธง
ต.ต้นธง อ.เมือง จ.ลำพูน 51000
โทร 053-561-427
e-mail: buddhapoj_lamphun@yahoo.co.th

1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

ขอบพระคุณขอรับ
ขออนุญาต นำมิติใหม่ในพระเผยแผ่ธรรมไปเขียนหนังสือ ประวัติพระพุทธศาสนายุคปัจจุบันขอบพระคุณครับ